TKP HEADLINE

กินอย่างมีสติ

การกินอย่างมีสติและสมาธิ เพื่อสุขภาพที่ตรอง (แข็งแรง) เป็นการกินที่ตนเองรับรู้ว่ากำลังกินอะไรเข้าไป การตั้งใจให้อยู่กับการกิน ตั้งสมาธิไม่วอกแวก เมื่อมีสติและสมาธิในการกิน ก็จะเกิดปัญญาในการกิน เราจะรู้ว่าตนเองกำลังกินอะไร มีประโยชน์ต่อร่างกายแค่ไหน และควรกินเท่าไหร่ถึงจะพอดี
การตั้งสมาธิในการกิน คือการตั้งใจกินโดยไม่วอกแวกกับกิจกรรมอื่น ๆ เมื่อมีสมาธิในการกิน เราจะแยกแยะได้ว่าเมื่อไหร่ที่เราควรกิน และเมื่อไหร่ที่แค่รู้สึกอยากกิน เราจะสามารถหักห้ามใจตนเองไม่ให้กินแบบไร้สาระได้ ซึ่งวิธีฝึกสมาธิในการกินมีดังนี้
  1. ฝึกจิตให้ผ่อนคลายจากอารมณ์ต่าง ๆ เช่น อารมณ์หิว อารมณ์ดีใจ อารมณ์เสียใจ เนื่องจากอารมณ์จะส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ ทำให้พฤติกรรมการกินแตกต่างจากอารมณ์ปกติ เช่น เมื่อมีอารมณ์หิว เราจะตักอาหารมากกว่าปกติ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือการถามตัวเองว่าในมื้อนี้มีความหิวมากน้อยแค่ไหน และร่างกายต้องการอาหารมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะได้เลือกซื้อ/ตักอาหารให้พอดีกับความหิวของร่างกายและความอยากของจิตใจ และไม่ควรฝืนความต้องการของร่างกายและจิตใจ เช่น หากต้องการกินขนมหวานก็สามารถกินได้ แต่จะต้องรับรู้ถึงปริมาณที่กินเข้าไป ควรฝึกถามตนเองและแยกแยะระหว่างความหิวของร่างกายและความอยากอาหารของจิตใจให้ได้
  2. ตักอาหารทีละน้อย ๆ ก่อนเข้าปาก อาจใช้ช้อนส้อมที่มีขนาดเล็ก หรือใช้ตะเกียบ การใช้อุปกรณ์การกินขนาดเล็กจะทำให้เราฝึกร่างกายให้ได้รับอาหารที่ช้าลง และได้รับปริมาณที่น้อยลงกว่าอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่
  3. ฝึกวิเคราะห์ส่วนประกอบของอาหารที่กำลังกิน ดูว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เช่น เนื้อสัตว์ชนิดไหน ผัก แป้ง น้ำมันแบบไหน ใส่เครื่องปรุงรสอะไรบ้าง มีวิธีการปรุงประกอบอย่างไร เพื่อที่จะได้รับรู้และเรียนรู้ถึงประเภทของอาหารที่เรากำลังกิน บางครั้งจะได้รับรู้ว่าเรากินอาหารประเภทนี้บ่อยครั้งแค่ไหน เพื่อที่จะได้เพิ่มเติมอาหารที่มีประโยชน์อื่น ๆ ให้กับตนเอง และลดปริมาณอาหารที่ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายลง
  4. ฝึกกินอาหารให้ช้า เคี้ยวอาหารให้ละเอียด จากงานวิจัยพบว่า ผู้ที่เคี้ยวและกลืนเร็ว จะไม่ค่อยได้รับรู้ถึงชนิดและปริมาณอาหารที่กินเข้าไป ทำให้ได้รับปริมาณและสารอาหารมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ แม้ว่าจะเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่หากมากเกินไปจะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานสูงเกิน ส่งผลให้เกิดไขมันสะสมในร่างกาย มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ซึ่งในแต่ละคำควรจะเคี้ยวอาหารประมาณ 15-25 ครั้งก่อนจะตักคำใหม่
  5. ฝึกการรับรู้รสชาติของอาหาร เพื่อช่วยให้สมองและร่างกายวิเคราะห์ว่าชอบหรือไม่ชอบรสชาติอาหารนี้ ทำให้เรารู้ว่ามีนิสัยการกินรสชาติอาหารแบบไหนเป็นประจำ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงอาหารที่ส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น อาหารหวานจัด เค็มจัด มันจัด เป็นต้น
  6. หลังการกินในแต่ละคำ ให้ฝึกวางช้อนส้อมหรืออุปกรณ์ในการกินลง เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลายและรับรู้ว่าร่างกายต้องการอาหารเพิ่มเติมหรือว่าเพียงพอแล้ว
  7. นั่งกินอาหารในที่สงบและไกลจากสิ่งรบกวน เช่น การคุยกับเพื่อน คุยโทรศัพท์มือถือ การดูทีวี การฟังวิทยุ การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อที่จะใส่ใจกับอาหารตรงหน้า และวิเคราะห์ถึงคุณค่าและพลังงานที่จะได้จากการกิน
  8. หลังกินอาหารเสร็จควรนั่งพัก 3-5 นาที ฝึกขอบคุณร่างกายที่ช่วยย่อยอาหารและนำสารอาหารไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ขอบคุณจิตใจที่ทำให้เกิดความสุขในการกินครั้งนี้ ซึ่งการนั่งพักจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น และทำให้สมองกับจิตใจพร้อมที่จะมีแรงทำงานอย่างอื่นต่อไป  อ่านเพิ่มเติม

Share this:

แสดงความคิดเห็น

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 ศูนย์ข้อมูลความรู้ประชาชนกลุ่มศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand